Saphan Siam
ศิษยาภิบาลที่รัก โปรดศึกษาศาสนศาสตร์แห่งการถูกชำระให้บริสุทธิ์ (sanctification) ของคุณด้วย

ศิษยาภิบาลที่รัก โปรดศึกษาศาสนศาสตร์แห่งการถูกชำระให้บริสุทธิ์ (sanctification) ของคุณด้วย

นาทีที่ผมรู้สึกว่าความรู้ในเรื่องการถูกชำระให้บริสุทธิ์ของตัวเองบกพร่องนั้นตราตรึงใจผมมาก สิ่งนี้เกิดขึ้นระหว่างการประชุมในกลุ่มย่อยขณะที่เรากำลังสนทนากันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำของเราและการงานของพระวิญญาณในกระบวนการเข้าสู่ความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ขณะที่การสนทนาดำเนินไปอย่างที่เป็นอยู่บ่อยครั้ง ผู้คนก็แบ่งปันถึงสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นหรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ในคริสตจักรที่จะช่วยให้พวกเขาโตขึ้น เช่น การอ่านพระคัมภีร์ การอธิษฐาน เป็นต้น ในขณะเดียวกันทุกคนต่างก็ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์คือผู้ที่ทำงานของการชำระให้บริสุทธิ์จริงๆ สุดท้ายก็มีผู้หญิงคนหนึ่งพูด ออกมาตรงๆ ว่า “ฉันไม่เข้าใจ ฉันจะเติบโตในฐานะคริสเตียนได้อย่างไรคะ?”

ขอเกริ่นถึงเบื้องหลังสักหน่อย สุภาพสตรีท่านนี้ติดตามพระเยซูมาหลายปีแล้วแต่ไม่นานมานี้เธอรู้สึกว่าการเติบโตของเธอได้หยุดชะงักลง เธออ่านพระคัมภีร์ อธิษฐาน มานมัสการทุกสัปดาห์ แต่ก็ยังรู้สึกว่าเธอมีความขมขื่นใจกับคนอื่นอยู่และเธอก็ได้พูดสิ่งที่ต้องมาเสียใจภายหลัง ผู้หญิงคนนี้เข้าใจว่าบาปของเธอทำให้พระเจ้าเสียพระทัย ดังนั้นเธอจึงรู้ว่าไม่สามารถอยู่เฉยๆ และเอารอแต่ให้พระเจ้ามาชำระเธอได้ แต่เธอก็เริ่มตระหนักได้ว่ากระบวนการถูกชำระให้บริสุทธิ์ของเธอไม่ได้เกิดขึ้นในสัดส่วนที่สัมพันธ์กับความพยายามของเธอ เธอพยายามอย่างหนักแต่ก็ยังย่ำอยู่กับที่ ในตอนต้นของเย็นวันนั้นผมแบ่งปันว่าถ้าหากเราทำกับการฝึกวินัยฝ่ายวิญญาณราวกับว่ามันคือแหล่งที่มาโดยตรงของการชำระให้บริสุทธิ์ของเรา ถ้าอย่างนั้นโฟกัสก็จะเปลี่ยนจากข่าวประเสริฐของพระคริสต์ไปเป็นที่ตัวเราแทนและนี่คือบ่อนทำลายการเติบโตของเรา ผมสามารถบอกได้เลยว่าคำพูดนั้นแตะต้องใจเธอแม้ว่ามันจะทำให้เธอรู้สึกกลัวก็ตาม

กระนั้นผมก็ไม่สามารถตอบคำถามของเธอได้เพราะความเข้าใจในเรื่องความรอดของผมไม่สมบูรณ์ ผมไม่ได้เข้าใจองค์ประกอบทั้งหมด ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นการถูกนับว่าเป็นผู้ชอบธรรมกับการถูกชำระให้บริสุทธิ์จึงขัดแย้งกันเอง ผมเอาแต่บ่นพึมพำอะไรบางอย่างที่ไม่สัมพันธ์กันนานเกินกว่าที่ทุกคนจะชอบ จากนั้นเราทุกคนก็พักทานของว่าง จะมีอะไรดีไปกว่าบราวนี่แสนอร่อยที่เข้ามาช่วยกลบเกลื่อนความตึงเครียดที่น่าอึดอัดเช่นนี้ได้

ความรับผิดชอบของศิษยาภิบาล
ผมไม่คิดว่าคริสเตียนคนหนึ่งจะต้องสามารถพูดอธิบายเรื่องศาสนศาสตร์แห่งการถูกชำระให้บริสุทธิ์ให้ได้ก่อนจึงจะสามารถถูกชำระให้บริสุทธิ์ได้ เหมือนที่ภรรยาของผมและทารกน้อยของเราไม่ต้องเข้าใจจิตวิทยาแห่งสายสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกให้ได้ก่อนจึงจะสามารถมีความผูกพันธ์กันได้ เราสามารถรับพระคริสต์เข้ามาเหมือนที่รับอาหารและเติบโตขึ้นได้อย่างปกติแม้ว่าเราจะไม่เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และเพื่อให้สอดคล้องกับการเปรียบเทียบนี้ สมมติถ้ามีบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างสายสัมพันธ์ของแม่และลูกล่ะ? แน่นอนผมหวังว่าจะมีคนที่เข้าใจพอที่จะช่วยพวกเขาได้

และนี่จึงเป็นเหตุผลที่อาจารย์จำเป็นต้องรู้จักกับศาสนศาสตร์แห่งการถูกชำระให้บริสุทธิ์ของตัวเองด้วย คุณอาจจะคิดว่า “นี่เป็นงานของผู้ให้คำปรึกษาฝ่ายวิญญาณไม่ใช่เหรอ?” ใช่ แต่อาจารย์ (ผมนึกถึงเฉพาะกลุ่มคนที่เทศนาและสั่งสอนเป็นหลัก) นั้นมีความรับผิดชอบในการเทศนาศาสนศาสตร์แห่งการถูกชำระให้บริสุทธิ์ที่แท้จริงเพื่อที่พวกเขาจะได้นำผู้คนไปในทางที่ถูกต้อง ลองคิดดูว่าหากคุณไม่ได้เทศนาด้วยมุมมองที่อยากนำคนของคุณไปสู่ความบริสุทธิ์ แล้วคุณกำลังทำอะไรอยู่? แน่นอนว่าคุณไม่อยากเพียงแค่ให้ความรู้ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือให้ความบันเทิงแก่ผู้คน คุณอยากให้คนของคุณได้รับการเปลี่ยนแปลง แต่คุณมีกรอบความคิดที่บอกว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหรือไม่? หากไม่มี แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าคุณกำลังนำพวกเขาไปในทางที่ถูกต้อง?

เรามีแนวโน้มที่จะผิดพลาดอย่างไร?
อันตรายที่ทำให้การถูกชำระให้บริสุทธิ์ต้องหยุดชะงักลงคือแนวคิดแบบใช้พระคุณเพื่อทำบาป (licentiousness) และแนวคิดแบบธรรมบัญญัตินิยม (legalism) แนวคิดแบบธรรมบัญญัตินิยมมองการถูกชำระให้บริสุทธิ์ในฐานะงานที่ต้องทำ บางทีฉันก็ต้องทำงานเพื่อจะได้รับความรอด หรือบางทีฉันก็ทำสิ่งเหล่านี้เพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้ามากขึ้น ฉันคิดว่า “ถ้าหากแค่ฉันสามารถหยุดทำสิ่งนี้ได้หรือไม่ก็เริ่มทำสิ่งนี้ได้ แล้วฉันจะโอเค” นี่คือธรรมบัญญัตินิยม เพราะมันคือการเชื่อฟังพระเจ้าเพื่อจะได้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ไม่ใช่การเชื่อฟังที่ออกมาจากความสัมพันธ์ที่มีกับพระเจ้า

ความผิดพลาดอีกอย่างคือแนวคิดแบบการใช้พระคุณเพื่อทำบาปและคนที่รับเอาความเชื่อนี้ถูกเรียกว่าแอนติโนเมียน (anti = ต่อต้าน; nomas = กฎหมาย) แนวคิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากการจดจ่ออย่างมากกับสิ่งที่พระคริสต์ได้ทรงกระทำให้สำเร็จจนไม่เหลือที่ว่างให้กับการงานของเราเลย พวกแอนติโนเมียนมองเห็นความล้มเหลวอันเลวร้ายซึ่งเป็นผลมาจากการใช้ความพยายามของเราแบบผิดๆ และด่วนสรุปอย่างผิดๆ ว่าควรจะหยุดใช้ความพยายามใดๆ ทั้งสิ้น

ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรข้ึนหากปราศจากกรอบความคิดสำหรับการถูกชำระให้บริสุทธิ์ เราสามารถสนับสนุนให้ผู้คนต่อสู้กับธรรมบัญญัตินิยมของพวกเขาด้วยการใช้พระคุณเพื่อทำบาปและต่อสู้กับการใช้พระคุณเพื่อทำบาปด้วยธรรมบัญญัตินิยมของพวกเขา ผมยังจำนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่อยากให้ผมหยุดพูดเรื่องข่าวประเสริฐเพราะพวกเขากลัวว่ามันจะทำให้แรงกระตุ้นที่จะรักษาความบริสุทธิ์ของพวกเขาอ่อนแอลง ผมเคยได้ยินเรื่องของคนอื่นที่หากจะยอมรับมาตรงๆ ก็รู้สึกสบายใจกับความเป็นจริงที่ว่าพวกเขาทำบาปเพราะมันพิสูจน์ว่าพวกเขาไม่ได้กลายเป็นพวกที่รอดโดยธรรมบัญญัติ แต่นี่ไม่ใช่การถูกชำระให้บริสุทธิ์ที่ถูกต้องตามพระคัมภีร์และเราจะต้องไม่สนับสนุนความคิดแบบนี้

การส่งเสริมการถูกชำระให้บริสุทธิ์แบบปลอมๆ นั้นง่ายกว่าที่คุณคิด ผมเคยได้ยินอาจารย์ที่ดีหลายคนกระตุ้นที่ประชุมของพวกเขาด้วยทุกสิ่งที่ควรทำแต่ไม่ได้พูดอะไรเลยเก่ียวกับพลังที่จะทำสิ่งนั้น ผมเคยได้ยินหลายๆ คำเทศนาที่พระคุณหล่นไปจากการใช้ชีวิตที่บริสุทธิ์แบบที่ดูเหมือนคำถามของเปาโลที่ว่า “เราควรจะทำบาปต่อไปเพื่อพระคุณจะได้มีมากยิ่งขึ้นหรือ?” จะได้รับคำตอบว่า “ใช่” ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขด้วยการเทศนาที่มองว่าพระคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางของพระคัมภีร์ทุกตอน แต่เรายังต้องมีศาสนศาสตร์แห่งการถูกชำระให้บริสุทธิ์เพื่อที่จะสามารถก้าวไปอีกขั้นและสามารถถามคำถามนี้ได้ว่า “เมื่อเราเดินทางมาถึงพระคริสต์แล้ว เราจะสามารถสวมพระคริสต์และไม่สนองความปรารถนาตามวิสัยบาปได้อย่างไร?

ผมไม่ได้บอกว่าทุกคำเทศนาจะต้องมีการสาธยายอย่างยาวยืดในเรื่องหลักคำสอนแห่งการถูกชำระให้บริสุทธิ์ มันอาจจะปรากฏอยู่เพียงแค่ประโยคเดียวหลังจากที่เราไปถึงพระคริสต์แล้ว หรือมันอาจจะชัดเจนในคำพูดที่คุณพูดกับคนที่มาทักทายคุณหลังจากการเทศนาที่มีความทุกข์ใจหรือความเย่อหยิ่งสักหน่อยก็ได้ ประเด็นคือ ถ้าหากการ “สวมพระคริสต์” และการ “แสวงหาสิ่งที่อยู่เบื้องบน” เป็นคำสั่งหลักที่เชื่อมโยงกับการถูกชำระให้บริสุทธิ์ของเรา เราจะต้องรู้ว่าการเชื่อฟังคำสั่งเหล่านี้หมายถึงอะไรและสิ่งนี้จะต้องชัดเจนในคำเทศนาของเรา

การถูกชำระให้บริสุทธิ์ในพระคริสต์
ดังนั้นศาสนศาสตร์ที่ชัดเจนของการถูกชำระให้บริสุทธิ์ต้องสามารถเน้นถึงความจำเป็นของการเติบโตโดยไม่ไปด้อยค่าของพระคุณและต้องเน้นไปที่พระคุณโดยไม่ด้อยค่าความจำเป็นในการเติบโต

เราจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร? ผมจะให้เพียงแค่โครงร่างกับคุณเท่านั้น เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของบทความนี้คือการทำให้คุณไปศึกษาเรื่องการถูกชำระให้บริสุทธิ์ด้วยตัวเอง ประการแรกคือให้มองความบริสุทธิ์ในฐานะของสิ่งที่เชื่อมโยงกับความรอด เราต้องหยุดพูดถึงการได้รับ “ความรอด” และการเป็นผู้ “บริสุทธิ์” ราวว่าทั้งสองเป็นคนละเรื่องกันและทั้งสองก็สามารถคัดค้านกันเองได้ เราควรจะหยุดยกเอเฟซัส 2:8-9 ที่บอกว่าเรา “รอดโดยพระคุณผ่านทางความเชื่อ…ไม่ใช่ความรอดโดยการประพฤติ” โดยไม่ยก 2:10 “เราทั้งหลายเป็นผลงานของพระเจ้า…เพื่อให้ทำการดี” ได้แล้ว ความรอดนั้นรวมถึงความบริสุทธิ์ด้วย ไม่ใช่ในฐานะของเงื่อนไขเพื่อจะได้ความรอดแต่ในฐานะส่วนหนึ่งของความรอด สังเกตดูให้ดีๆ : ในพระคัมภีร์ไม่เคยมีความตึงเครียดระหว่างพระคุณที่ได้มาเปล่าๆ กับการทำดีเลย

ทำไมล่ะ?
คำถามข้อนี้นำผมไปสู่ประเด็นที่กว้างอันที่สอง : ความรอดคือการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์ น่าเศร้าที่เรามักจะคิดถึงความรอดในฐานะของของขวัญกองโตกองหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยของขวัญที่ถูกห่อแยกกันแต่ละกล่อง อย่างเช่น มีกล่องของขวัญแห่ง “การอภัย” แห่ง “พระวิญญาณ” แห่ง “การไถ่” เป็นต้น ปัญหาคือของขวัญแต่ละชิ้นแยกกันอยู่อย่างอิสระและบ่อยครั้งการเน้นที่ของขวัญอย่างหนึ่งมากเกินไปก็เป็นการไปแข่งกับของขวัญอีกอย่างที่ถูกเน้นมากเกินไปด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าหากผมกำลังชื่นชมยินดีกับของขวัญอันยิ่งใหญ่แห่งการอภัยบาปจำเป็นด้วยหรือที่ผมต้องแกะห่อของขวัญอันที่ติดป้ายว่า “การถูกชำระให้บริสุทธิ์” ด้วย? หรือถ้าหากผมได้ประโยชน์จาก “การถูกชำระให้บริสุทธิ์” ผมยังต้องยึดมั่นในของขวัญแห่ง “ความชอบธรรมที่พระเจ้านับว่าเป็นของฉัน” อยู่อีกหรือ?

ในความเป็นจริง ความรอดเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับเอาพระคริสต์ผู้กลายมาเป็นทุกสิ่งที่เราต้องการสำหรับความรอดของเรา เราอยู่ “ในพระเยซูคริสต์ ผู้ได้ทรงเป็นพระปัญญาจากพระเจ้าเพื่อเรา นั่นคือทรงเป็นความชอบธรรม ความบริสุทธิ์และการไถ่ของเรา”(1โครินธ์ 1:30) เพราะของขวัญทุกชิ้นมาถึงเราโดยการรับเอาพระคริสต์ ทั้งหมดจึงเชื่อมโยงและสอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์แบบ เราไม่ได้ใช้การอภัยบาปและความชอบธรรมที่พระเจ้านับว่าเป็นของเราเพื่อจะได้นั่งเฉยๆ และไม่ทำอะไรเลยแต่เพื่อจะได้เข้ามาใกล้พระคริสต์และพบกับความช่วยเหลือเพื่อสามารถดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์ได้ และเมื่อเราดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์เราจะไม่เฉยชาต่อการถูกนับว่าเป็นผู้ชอบธรรมของเรา แต่จะกลับรู้สึกประทับใจในความบริสุทธิ์ของพระเจ้ามากขึ้นจนรู้สึกซาบซึ้งในความชอบธรรมของพระคริสต์ที่นับว่าเป็นของเรามากกว่าเดิม ซึ่งนั่นก็คือสถานะตามกฎหมายของเราต่อพระพักตร์พระเจ้า พระวิญญาณทรงผูกพันธ์ชีวิตคริสเตียนไว้ด้วยกันคือพระวิญญาณองค์เดียวกันที่ทำให้พระเยซูเป็นขึ้นจากตาย “เพื่อการถูกนับว่าเป็นคนชอบธรรมของเรา” (โรม 4:25) พระองค์คือผู้ที่ได้ผูกพันธ์เราไว้กับพระคริสต์ด้วย พระองค์ทรงเติมเราให้เต็มด้วยผลของพระวิญญาณและทรงอธิษฐานต่อพระเจ้าแทนเราด้วย

พูดอีกอย่างคือ การเติบโตของด้านหนึ่งในความรอดของเราย่อมพาให้เราหยั่งลึกลงในตัวตนของพระคริสต์และการมีสามัคคีธรรมฝ่ายวิญญาณกับพระองค์มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ได้เชื่อมเราติดกับผลประโยชน์อื่น ๆ ทั้งหมดที่เรามีในพระองค์ด้วย เราได้รับทุกพระพรฝ่ายวิญญาณในพระคริสต์ เมื่อเรามองความรอดของเราในฐานะของสิ่งที่มาเป็นแพ็คเกจเราก็ไม่สามารถทำให้ผลประโยชน์ข้อหนึ่งขัดแย้งกับผลประโยชน์อีกข้อได้ ผลคือเราไม่จะไม่ต่อสู้กับการใช้พระคุณเพื่อทำบาปของเราด้วยธรรมบัญญัตินิยม เราจะต่อสู้กับทั้งธรรมบัญญัตินิยมและการใช้พระคุณเพื่อทำบาปด้วยพระคริสต์

จงศึกษาเรื่องการถูกชำระให้บริสุทธิ์!
ผมรู้สึกขอบคุณคำถามของสุภาพสตรีท่านนั้นเพราะมันกระตุ้นให้ผมไปศึกษาเรื่องการถูกชำระให้บริสุทธิ์ ไม่ว่าเราจะเข้าใจความจริงนี้แค่ไหนก็ยังมีอีกมากมายให้เราต้องทำความเข้าใจอยู่และแน่นอนว่ามีอีกมากมายที่เรายังต้องมีประสบการณ์ด้วย แต่แม้แต่กรอบความคิดแบบง่ายๆ สำหรับการถูกชำระให้บริสุทธิ์นี้หากว่าถูกต้องตามพระคัมภีร์ก็จะสามารถช่วยให้เรานำคนของเราหยั่งลึกมากขึ้นในพระคริสต์และ (ดังนั้น) ในความบริสุทธิ์ด้วย

มีการผลักดันในกลุ่มอีแวนเจลิคัลให้เข้าใจเรื่องการถูกนับว่าเป็นผู้ชอบธรรมมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ดี แต่จงตรวจสอบให้แน่ใจว่าเรายังไม่ได้ละทิ้งเรื่องการถูกชำระให้บริสุทธิ์ด้วย

โดย ไมค์ ไครสต์

Categories

Saphan Siam exists to be a bridge between the Thai church and biblical, timely and trusted resources.

Learn More

สองทางชีวิต

ติดตามเรา