Saphan Siam
พลังของตัวอย่าง

พลังของตัวอย่าง

“ตัวอย่างไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต แต่เป็นสิ่งเดียวที่มี” ผ่านทางประโยคนี้ อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ มิชชั่นแพทย์และนักเขียนชื่อดังได้ตอกย้ำถึงความสำคัญและพลังของตัวอย่างอย่างชัดเจน มีกี่คนในพวกเราที่กำลังอ่านสิ่งนี้และเคยได้รับอิทธิพลจากชีวิตอันทรงพลังของอาจารย์ ผู้ปกครองคริสตจักร และคริสเตียนบางคนที่เราเคยพบเจอมาในตอนต้นของชีวิตบ้าง? หากผมจะเอ่ยถึง “อาจารย์ที่ซื่อสัตย์คนหนึ่ง” ภาพของใครที่ผุดขึ้นมาในหัวคุณ? หากผมจะเอ่ยถึง “คริสเตียนที่ซื่อสัตย์คนหนึ่ง” คุณจะคิดถึงใคร?

แน่นอนว่าคำพูดของชไวเซอร์เป็นคำที่เกินจริง มีหลายองค์ประกอบเกี่ยวข้องกับชีวิตที่ซื่อสัตย์ชีวิตหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านี้ก็หลอมรวมกันกลายเป็นตัวอย่างที่ใครบางคนได้เป็นให้เห็น

“การเลี้ยงดู” และ “การสร้าง” อาจฟังดูเหมือนกับเป็นความคิดใหม่ แต่ไม่ใช่เลย จากวิธีที่พระเจ้าได้ทรงสร้างเราขึ้นมาดูเหมือนว่านี่จะเป็นสิ่งที่อยู่ในพระทัยของพระองค์อยู่แล้ว พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามพระฉายของพระองค์ เราจึงต้องดำเนินตามแบบอย่างและเลียนแบบพระลักษณะของพระองค์ ในการลงมาเกิดของพระคริสต์พระเจ้าได้บังเกิดมาเป็นมนุษย์ในแบบที่เราสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกับพระองค์ได้ อย่างที่เปโตรได้กล่าวไว้ว่า “ทรงวางแบบอย่างไว้ให้ท่านดำเนินตามรอยพระบาท” (1เปโตร 2:21)

เรามีส่วนในพันธกิจแห่งการเป็นแบบอย่างและดำเนินตามแบบอย่างด้วยเช่นกัน พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เกิดมาและเติบโตร่วมกับมนุษย์คนอื่นๆ ในครอบครัว เราไม่ได้ให้กำเนิดตัวเองขึ้นมาและเราก็ไม่ได้จู่ๆ กลายเป็นผู้ใหญ่ทันที พระเจ้าได้ทรงวางแผนให้พ่อแม่ที่มีความรักเป็นส่วนหนึ่งในวิธีที่มนุษย์จะเติบโต

นี่ยังเป็นวิธีที่พระเจ้าตั้งพระทัยจะทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักในโลกที่ล้มลงในบาปด้วย ในพระคัมภีร์เดิมพระเจ้าได้ทรงเรียกอับราฮัมและลูกหลานของท่านออกมาเพื่อให้พวกเขาเป็นคนที่บริสุทธิ์ พิเศษ และแตกต่างจากคนอื่นในโลก พวกเขาต้องเป็นคนที่พิเศษเพื่อให้โลกได้เห็นภาพของสังคมที่สะท้อนพระลักษณะของพระเจ้าคือที่จะทำให้สิ่งที่ทรงให้ความสำคัญและคุณค่าของพระองค์หลอมรวมเป็นตัวพวกเขา เมื่อพระเจ้าตรัสกับคนของพระองค์ในเลวีนิติ บทที่19 ว่าพวกเขาต้อง “บริสุทธิ์เพราะเราคือพระยาห์เวห์ พระเจ้าของเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์” พระองค์ไม่ได้ตรัสแค่กับคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่แค่โมเสส อาโรน หรือโยชูวา แน่นอนว่าพระองค์ตรัสกับพวกเขา แต่เราเห็นในเลวีนิติ 19:1 ว่าพระเจ้าทรงบัญชาให้โมเสสบอกกับชุมชนอิสราเอลทั้งหมดอย่างเจาะจง กฎหมายที่ทรงมอบให้กับพวกเขานั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ ความเที่ยงตรง ความยุติธรรม และปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ พระองค์ทรงสำแดงให้เห็นว่าเมื่อคนเหล่านี้ใส่ใจกันและกัน (ทั้งคนที่หลงหายและคนที่เล็กน้อยที่สุด คนแปลกหน้าและคนอายุน้อย) พวกเขาจะได้สำแดงคุณลักษณะบางอย่างของพระผู้สร้างผู้เที่ยงธรรมและมีพระเมตตา

ความล้มเหลวในพันธกิจของการเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่นของอิสราเอลคือข้อหาหลักที่พระเจ้าทรงมีต่อชนชาตินั้นในพระคัมภีร์เดิม ดังนั้น ในพระธรรมเอเศเคียล บทที่ 5 บทบาทของอิสราเอลจึงกลายเป็นหนึ่งในการสั่งสอนบรรดาประชาชาติด้วยตัวอย่างในแง่ลบ พระยาห์เวห์ตรัสว่า “นี่คือเยรูซาเล็มซึ่งเราตั้งไว้ใจกลางชนชาติต่างๆ มีนานาประเทศล้อมรอบ…เราจะทำให้เจ้าเป็นซากปรักหักพัง และเป็นที่ตำหนิติเตียนในหมู่ประชาชาติรอบตัวเจ้า ต่อหน้าผู้คนที่ผ่านไปมา เจ้าจะเป็นที่ตำหนิติเตียนและเป็นที่เปรียบเปรยเย้ยหยัน เป็นคำเตือนและเป็นเป้าของความสยดสยองแก่บรรดาประชาชาติโดยรอบ เมื่อเราลงโทษเจ้าด้วยความโกรธ ด้วยโทสะ และด้วยการกำราบอันเจ็บแสบ เราผู้เป็นพระยาห์เวห์ได้ลั่นวาจาไว้”(5:5, 14-15) พระเจ้าตรัสครั้งแล้วครั้งเล่าในเอเสเคียลว่าทรงทำสิ่งที่ทรงทำต่อชนชาติอิสราเอลเพื่อพระนามของพระองค์ คือเพื่อที่ความจริงเกี่ยวกับตัวพระองค์จะเป็นที่รู้จักท่ามกลางบรรดาประชาชาติ

การเป็นพยานร่วมกันต่อพระองค์นี้คือสิ่งที่พระเจ้าตั้งพระทัยไว้ผ่านคริสตจักรในพระคัมภีร์ใหม่ด้วย ในยอห์น บทที่ 13 พระเยซูตรัสว่าโลกจะรู้ว่าเราเป็นสาวกของพระองค์โดยความรักแบบพระคริสต์ที่เรามีต่อกัน เปาโลเขียนถึงคริสตจักรเอเฟซัสว่า “เมื่อก่อนท่านเป็นความมืด แต่เดี๋ยวนี้ท่านเป็นความสว่างในองค์พระผู้เป็นเจ้า จงดำเนินชีวิตอย่างลูกของความสว่าง” (เอเฟซัส 5:8)

ในฐานะคริสเตียน (ทั้งในส่วนบุคคลและในผลกระทบที่มีอย่างทวีคูณของชีวิตซึ่งใช้ร่วมกันในฐานะคริสตจักร) ชีวิตของเรานำเสนอความสว่างแห่งความหวังของพระเจ้าในโลกที่มืดมนและสิ้นหวังนี้ ในฐานะคริสเตียน ชีวิตของเราสั่งสอนกันและกันและสั่งสอนโลกที่อยู่รอบๆ เกี่ยวกับพระเจ้า หากเรารักกันและกันเราก็แสดงให้เห็นในระดับหนึ่งว่าการรักพระเจ้ามีหน้าตาเป็นอย่างไร และในทางตรงกันข้าม “ผู้ที่ไม่รักพี่น้องซึ่งตนมองเห็นย่อมไม่สามารถรักพระเจ้าซึ่งตนมองไม่เห็น” (1ยอห์น 4:20) ในความบริสุทธิ์ของเรา เราสำแดงความบริสุทธิ์ของพระเจ้า เราถูกเรียกมาเพื่อให้ความหวังกับผู้คนว่ายังมีชีวิตในรูปแบบอื่นอยู่ คือชีวิตที่เป็นมากกว่าชีวิตแห่งความขุ่นเคืองใจอย่างเห็นแก่ตัวซึ่งธรรมชาติอันตกต่ำของเราและโลกที่อยู่รอบตัวร่วมกันกระตุ้นให้เราทำตาม

เพื่อนๆ ศิษยาภิบาลและผู้ปกครองที่รัก คริสตจักรของเรากำลังสอนโลกที่กำลังมองมาที่เราเกี่ยวกับพระเจ้าว่าอะไร? เรากำลังสอนพวกเขาว่าพระเจ้านั้นจำกัดแค่เชื้อชาติของเราอยู่ไหม? เรากำลังสอนพวกเขาอยู่หรือไม่ว่าพระองค์ยอมทนกับความบาปและความไม่ซื่อสัตย์ ว่าพระองค์ปล่อยผ่านชีวิตที่หมกมุ่นอยู่แต่กับความน้อยเนื้อต่ำใจและการทะเลาะวิวาท? เราจริงจังแค่ไหนกับการนำคนของเราไปรับมอบภารกิจและสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ที่เรามีในการเป็นตู้โชว์รูม เป็นหน้าต่างร้านค้า โฆษณา และหน้าเวบไซต์แห่งพระลักษณะของพระเจ้าต่อสิ่งที่ทรงสร้างของพระองค์?

สิทธิพิเศษที่พระองค์ประทานให้เรานั้นยิ่งใหญ่จริงๆ และดูเหมือนว่าเราแทบจะไม่ได้ไตร่ตรองถึงสิทธิพิเศษนั้นเลย เราคิดว่าถ้าหากมีคนมากขึ้นในคริสตจักรของเรานั่นจะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบที่เรามีต่อคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสมาชิกอยู่แล้ว แต่อะไรคือคำพยานที่คนเหล่านี้แต่ละคนกำลังประกาศอยู่? มีกี่คำพยานที่ไม่ดีของพวกเขาที่คุณต้องพยายามเอาชนะเพื่อที่ผู้คนจะสามารถเห็นคำพยานที่ดีที่พระเจ้าได้จัดเตรียมผ่านทางคนเหล่านั้นที่กลับใจอย่างแท้จริงและกำลังสำแดงสิ่งนี้อยู่ได้?

เรื่องของการลงวินัยคริสตจักรทั้งหลายนั้นที่สุดแล้วไม่ใช่เรื่องของการแก้ต่างหรือการแก้แค้น นี่เป็นหน้าที่ของพระเจ้าไม่ใช่ของเราซึ่งเป็นคนบาปที่ได้รับการอภัย! (เฉลยธรรมบัญญัติ 32:35; โรม 12:19) แต่เราก็มีพันธะที่จะสำแดงตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นเห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นเช่นไร เราต้องเป็นแบบอย่างที่น่าเอาอย่างทั้งในชีวิตและในความประพฤติของเรา เคยสังเกตไหมว่าในจดหมายฝากเปาโลดูเหมือนจะเป็นกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่ผู้ปกครองคริสตจักรจะมีต่อคนนอกคริสตจักรโดยเฉพาะ? แม้ว่าจะมีหลายเหตุผลสำหรับเรื่องนี้ แต่เหตุผลอย่างหนึ่งคือต้องเป็นเพราะภาพลักษณ์ของบทบาทของผู้ปกครองคริสตจักรต่อสายตาโลกอย่างแน่นอน ดังนั้น นี่จึงเป็นลักษณะของคริสตจักรโดยรวมด้วย นั่นคือเหตุผลที่เปาโลโกรธเคืองมากใน 1โครินธ์ บทที่5 และคุณได้สังเกตไหมว่าเปาโลกำลังตะโกนใส่ใคร? เปาโลไม่ได้ดุด่าชายที่กำลังอยู่ในบาปทางเพศแต่ท่านต่อว่าคริสตจักรที่ทนต่อความบาปเช่นนี้ท่ามกลางสมาชิกของตัวเองอย่างรุนแรงต่างหาก! เรารู้ความจริงที่น่าเศร้าว่าพวกเราจำนวนหนึ่งจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นคนที่หลงอยู่ในความบาปแม้ว่าในตอนแรกจะเคยประกาศตัวอย่างดีว่าเป็นผู้เชื่อ เราก็เชื่อว่าอย่างน้อยจะมีบางคนในพวกนั้นที่จะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อกลับใจและหันกลับมา แต่เราไม่เคยคาดคิดเลยว่าคริสตจักรจะร่วมกันละเลยความรับผิดชอบของตนในการเป็นตัวแทนที่ดีของพระเจ้าโดยการยืนหยัดเพื่อความบริสุทธิ์และต่อต้านความบาป มันคือปัญหาในเรื่องนี้เอง (เช่นเดียวกับบาปแห่งการบูชารูปเคารพของอิสราเอลในพระคัมภีร์เดิม) ที่เป็นจุดโฟกัสของการต่อว่าอย่างรุนแรงที่เปาโลมีต่อคริสตจักรโครินธ์

เพื่อนๆ ที่รัก อัครทูตเปาโลจะพูดถึงคริสตจักรทั้งของคุณและของผมว่าอย่างไร? เราทนต่อการขาดโบสถ์ในนามของความรักมากแค่ไหน? กี่ครั้งที่เรายอมให้ความสัมพันธ์แห่งการล่วงประเวณีหรือการหย่าร้างที่ไม่ถูกต้องตามพระคัมภีร์เกิดขึ้นโดยไม่พูดอะไรเลยในคริสตจักรของเราซึ่งเป็นการกรีดร้องบอกกับโลกว่า “เราไม่ได้ต่างอะไรกับพวกเขาเลย”? มีคนที่ชอบสร้างความแตกแยกกี่คนกันที่เรายอมทนให้เขาสร้างความแตกแยกในโบสถ์เพราะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือมีข่าวประเสริฐเทียมเท็จกี่อย่างกันที่เรายอมให้สอนในคริสตจักร?

พี่น้องที่รัก หากคุณกำลังอ่านสิ่งนี้ในฐานะศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง ผู้นำ อาจารย์ หรือสมาชิกคริสตจักร ก็จงลองคิดดูว่าเรามีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน ลองพิจารณาว่าเราจะสามารถเป็นพยานที่ดีที่สุดเพื่อพระเจ้าได้อย่างไร โดยการเพิกเฉยต่อบาปที่อยู่ในหมู่พวกเราหรือโดยการนำคนเหล่านั้นที่ติดกับดักของบาปกลับมาด้วยความอ่อนโยนแบบที่เปาโลแนะนำไว้ในกาลาเทีย 6:1หรือ? แบบไหนสะท้อนพระเจ้าผู้ที่เรานมัสการได้ดีกว่า? พระเมตตาของพระเจ้าเคยทำให้ความบริสุทธิ์ของพระองค์ในพระคำของพระองค์คลุมเครือหรือ? แล้วในคริสตจักรของพระองค์ล่ะ? อะไรคือความรับผิดชอบของเราในเรื่องนี้?

จงใส่ใจตัวอย่างที่คุณวางไว้ต่อโลกที่อยู่รอบข้างคุณ พระเจ้าทรงมีแผนการอันยิ่งใหญ่สำหรับคนของพระองค์และโลกของพระองค์ พระองค์ได้ทรงเรียกให้เราสำแดงสิ่งนี้ด้วยคำพูดและชีวิตของเรา คุณกำลังทำสิ่งนี้อยู่หรือเปล่า? ขอพระเจ้าช่วยให้เราทุกคนซื่อสัตย์ต่อการทรงเรียกอันยิ่งใหญ่นี้

โดย มาร์ค เดเวอร์

Categories

Saphan Siam exists to be a bridge between the Thai church and biblical, timely and trusted resources.

Learn More

สองทางชีวิต

ติดตามเรา