การเทศนาแบบอรรถาธิบายคืออะไร การเทศนาใดๆ จะเป็นแบบอรรถาธิบายได้ หากเนื้อหาหรือเจตนาของคำเทศน์นั้นถูกกำกับด้วยเนื้อหาและเจตนาของพระธรรมที่เจาะจงตอนหนึ่งในพระคัมภีร์ นักเทศน์กล่าวสิ่งที่พระธรรมตอนนั้นกล่าวไว้ และพระเจ้าปรารถนาให้พระธรรมตอนนั้นเกิดผลในผู้ฟังอย่างไร นักเทศน์ก็มีความตั้งใจให้คำเทศนาของเขาเกิดผลผ่านทางพระธรรมที่ถูกเลือกไว้อย่างนั้น
นักเทศน์ครับ ลองจินตนาการภาพพระเจ้านั่งอยู่ในที่ประชุมขณะที่คุณเทศน์ดูสิ สีหน้าของพระองค์จะเป็นแบบไหน จะเป็นแบบ “นั่นไม่ใช่ที่เราอยากจะบอกในพระธรรมตอนนั้นของพระคัมภีร์เลย” หรือจะเป็น “ใช่ นั่นแหละคือสิ่งที่เราตั้งใจไว้”
ข้อสนับสนุนทางพระคัมภีร์สำหรับการเทศนาแบบอรรถาธิบายเริ่มต้นด้วยการเชื่อมโยงกันระหว่างของประทานที่พระคริสต์ผู้เสด็จสู่สวรรค์ได้ประทานให้แก่คริสตจักรในการเป็นศิษยาภิบาลกับอาจารย์ (เอเฟซัส 4:11) กับคำกำชับสำหรับศิษยาภิบาลกับอาจารย์จากพระคัมภีร์ที่บอกว่า “จงประกาศพระวจนะ” (2 ทิโมธี 4:2) คนที่เทศนาควรจะเทศน์จากพระคัมภีร์ของเขา
บางที พระธรรมกิจการก็น่าจะเป็นที่แรกที่แสดงให้เห็นได้อย่างดีที่สุดถึงความถูกต้องในการระบุว่าการเทศนากับการเทศนาพระวจนะเป็นสิ่งเดียวกัน ในพระธรรมกิจการ วลี “พระวจนะของพระเจ้า” ถูกใช้เป็นข้อความย่อสำหรับใจความสำคัญของการเทศนาของอัครทูตเสมอตัวอย่างเช่น ในกิจการ 6:2 บรรดาอัครทูตกล่าวว่า “การที่เราจะละเลยพระวจนะของพระเจ้า … ก็ไม่สมควร” (ยังมีอีกใน กิจการ 12:24 12:24; 13:5, 46; 17:13; 18:11) วลีนี้ยังปรากฏบ่อยๆ ในอีกคำหนึ่งคือ “พระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (8:25, 13:44; 15:35-36 และที่อื่นๆ อีก) และมักจะถูกย่อเหลือ “พระวจนะ” (เปรียบเทียบ 4:29; 8:4; 11:19) ในพระธรรมกิจการ มีการระบุถึงความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและอย่างคงเส้นคงวาระหว่างการเทศนาของอัครทูต กับวลีที่ว่า “พระวจนะของพระเจ้า”
แม้ใจความสำคัญของการเทศนาแบบอัครทูตคือข่าวดีเรื่องการคืนดีกับพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์ แต่สารนั้นก็ได้รับการประกาศและอธิบายไว้โดยทางการอธิบายพระคัมภีร์เดิมเกือบจะทุกครั้ง ดังนั้นการเทศนาในยุคพันธสัญญาใหม่จึงเกี่ยวข้องกับการเทศนา “พระวจนะของพระเจ้า” และองค์ประกอบสำคัญสำหรับการเทศนาดังกล่าวก็คือการอธิบายพระคัมภีร์เดิม นี่จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า พระคัมภีร์เดิมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในกรอบความคิดของเราใน “พระวจนะ” ที่จะถูกนำไปเทศน์ ซึ่งข้อสรุปนี้ได้รับการยืนยันโดยคำยืนยันทั้งทางตรง (เช่น 2 ทิโมธี 3:16; โรม 3:2) และทางอ้อม (เช่น โรม5:14) ของพันธสัญญาใหม่
ดังนั้น “พระวจนะ” ในที่นี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซู ดังที่ถูกพยากรณ์ไว้แล้วในพันธสัญญาเดิมและบัดนี้ก็ได้รับการอธิบายในคำเทศนาของอัครทูต นี่คือพระวจนะที่ใช้ในการ “กล่าว” (กิจการ4:29) “ประกาศ” (13:5) และถูก “รับ” (17:11) ไว้ในฐานะ “พระวจนะของพระเจ้า” การระบุถึงสิ่งเดียวกันนี้ได้รับการยืนยันตลอดจดหมายฝากของเปาโล ท่านเรียกสารที่ท่านประกาศว่า “พระวจนะของพระเจ้า” (2 โครินธ์ 2:17, 4:2; 1 เธสะโลนิกา 2:13) หรือไม่ก็แค่ “พระวจนะ” (กาลาเทีย 6:6) อย่างไม่ลังเล
แม้แต่ในบริบทคำกำชับที่เปาโลให้ทิโมธี “เทศนาพระวจนะ” ก็ยังมีการยืนยันถึงการเป็นสิ่งเดียวกันระหว่างการเทศนาและการเทศนาพระวจนะของพระเจ้า ทิโมธีคงจะรู้ในทันทีว่าคำว่า “พระวจนะ” ที่เปาโลหมายถึงคืออะไร อย่างที่ชีวประวัติของทิโมธีได้เน้นย้ำ พระวจนะนั้นรวมถึงทั้งที่เป็น “พระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์” และสารของอัครทูต ซึ่งก็คือ “สิ่งที่ได้เรียนรู้แล้วและเชื่ออย่างมั่นคง และท่านก็รู้ว่าท่านเรียนมาจากใคร” (2 ทิโมธี 3:10-17) อย่างไม่ต้องสงสัย
บทสรุปที่เราจะได้จากตรงนี้ก็คือ “พระวจนะ” ที่เราเทศนานั้นต้องเป็นเนื้อหาของความจริงที่ประกอบด้วยพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมและการสอนเรื่องพระคริสต์ของอัครทูต ซึ่งก็คือ พันธสัญญาใหม่ ดังนั้น การถือว่า “พระวจนะ” กับพระคัมภีร์ของเราเป็นสิ่งเดียวกันนั้นถูกต้องและเหมาะสมแล้ว นี่แหละคือสิ่งที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ผู้สอนจะต้องสอน งานของเราคือการประกาศ “พระวจนะ” ที่พระเจ้าได้ตรัส ที่ได้รับการรักษาไว้ในพระคัมภีร์ และได้มอบหมายให้กับเรา ชีวิตฝ่ายวิญญาณของประชากรของพระเจ้าขึ้นอยู่กับพระวจนะนี้ (เฉลยธรรมบัญญัติ 8:3) นั่นคือเหตุผลว่าทำไมนักเทศน์ที่ยังอายุยังน้อยจึงถูกกำชับให้ “อุทิศเวลาให้กับการอ่านพระคัมภีร์ในที่ประชุม ให้กับการเทศนาและสั่งสอน” (1 ทิโทธี 4:13) ถ้าหากคำกำชับนี้ครอบคลุมมายังเราในทุกวันนี้ (ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น) ดังนั้นแหล่งข้อมูลของการเทศนาของเราก็ควรจะครอบคลุมพระคัมภีร์ทั้งหมดของเราอย่างเท่าๆ กัน
แล้วสิ่งนี้จะมีหน้าตาอย่างไร? ในการเตรียมคำเทศนาของเรา สิ่งนี้ก็จะเหมือนกับการเอาข้อพระธรรมของพระวจนะพระเจ้าที่กำหนดไว้มาศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อที่เราจะ “นำถ้อยคำแห่งความจริงไปใช้ได้อย่างถูกต้อง” ส่วนบนธรรมาสน์ สิ่งนี้ก็จะดูเหมือนกับภาพที่เราเห็นใน เนหะมีย์ 8:8 “และพวกเขาอ่านจากหนังสือ … อย่างชัดเจน และเขาก็อธิบายความหมาย ประชาชนจึงเข้าใจข้อความที่อ่านนั้น” พระเจ้าทรงทั้งมีพระประสงค์และพระสัญญาที่จะใช้คำเทศนาเช่นนี้เพื่อทำให้หนึ่งในเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของพระองค์สำเร็จ นั่นคือ เพื่อรวบรวมและการเสริมสร้างประชากรของพระองค์ขึ้นมา
โดย ไมค์ บูลมอร์
English Version: “A Biblical Case for Expositional Preaching” by Mike Bullmore