Saphan Siam
5 ความผิดพลาดที่พบได้บ่อยและควรหลีกเลี่ยงเมื่อศึกษาพระคัมภีร์

5 ความผิดพลาดที่พบได้บ่อยและควรหลีกเลี่ยงเมื่อศึกษาพระคัมภีร์

1. เราไม่ยอมให้พระคัมภีร์พูดแทนตัวเอง

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ ความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นได้ คือการถามคำถามที่ผิดๆ  แทนที่จะตั้งคำถามว่า “ฉันเป็นใคร?” และ “ฉันควรทำอะไร?” เจน วิลคิน (ผู้เขียน Women of the Word: How to Study the Bible with Both Hearts and Our Minds) ก็แนะนำให้เราตั้งคำถามว่า “พระเจ้าเป็นผู้ใด?” และ “พระองค์ทำอะไรมาแล้วบ้าง?”

พระคัมภีร์เป็นหนังสือที่เปิดเผยอย่างกล้าหาญและชัดเจนว่าพระเจ้าคือใครอยู่ในทุกหน้า  หนังสือปฐมกาล ทำสิ่งนี้โดยการวางพระเจ้าไว้เป็นหัวข้อหลักของการเล่าเรื่องราวแห่งการทรงสร้าง หนังสืออพยพวางให้พระองค์อยู่ในตำแหน่งที่เทียบเท่ากับฟาโรห์และบรรดาพระต่างๆ ของอียิปต์ ในบทเพลงสดุดี ดาวิดยกย่องฤทธานุภาพและความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า บรรดาผู้เผยพระวจนะต่างก็ป่าวประกาศพระพิโรธและความยุติธรรมของพระองค์ หนังสือกิตติคุณและจดหมายฝากต่างๆ ก็เปิดเผยให้เห็นถึงพระลักษณะของพระเจ้าและการงานของพระคริสต์ หนังสือวิวรณ์แสดงให้เห็นถึงอำนาจปกครองของพระองค์เหนือทุกสิ่ง  พระคัมภีร์คือหนังสือเกี่ยวกับพระเจ้าตั้งแต่ต้นจนจบ

แน่นอนว่าพระคัมภีร์บอกว่าเราเป็นใครและควรทำอะไรด้วย แต่มันก็สำคัญที่จะไม่ลืมว่า พระคัมภีร์คือหนังสือที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราน้อยกว่าที่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวพระองค์

2. เราปล่อยให้หัวใจนำทางในการศึกษาพระคัมภีร์

เรามักจะหันไปหาพระคัมภีร์เพื่อขอความช่วยเหลือหรือขอความหวังเมื่อรู้สึกท้อแท้หรือต้องการความสงบสุขทางใจ เพราะเหตุนี้ เราจึงสามารถทำความเข้าใจพระคัมภีร์และนำพระคัมภีร์ไปใช้ หลักๆ แล้วก็เพื่อทำให้เรารู้สึกดีขึ้น วิลคิน กล่าวว่า

น่าสนใจที่พระธรรมข้อเดียวกันที่สั่งให้เรารักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจยังสั่งให้เรารักพระองค์ด้วยสุดความคิดของเราด้วย  ความรู้สึกนึกคิดเป็นศูนย์บัญชาการของการคิดวิเคราะห์ สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ การนำเอาการคิดวิเคราะห์มาผนวกเข้ากับความเชื่อไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  เราอยู่ในยุคที่คนสอนว่าความเชื่อและเหตุผลอยู่ตรงข้ามกันคนละขั้ว บางครั้ง คริสตจักรเองก็ยอมรับความคิดแบบนี้ด้วย  สำหรับเราบางคน ความเข้มแข็งแห่งความเชื่อของเราก็วัดได้จากความรู้สึกใกล้ชิดที่เรามีกับพระเจ้าในช่วงนั้นๆ  วัดได้จากคำความรู้สึกที่ได้จากคำเทศนานั้นๆ วัดได้จากความรู้สึกที่ได้รับจากทีมนมัสการ หรือความรู้สึกที่ได้จากการใช้เวลาส่วนตัวกับพระเจ้า

อันที่จริง ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าสามารถหลั่งออกมาจากการรู้จักพระเจ้าได้  เมื่อเราใช้ความคิด หัวใจของเราก็สามารถเคลื่อนไปตามได้ในขณะที่เรารู้สึกซาบซึ้งต่อพระเจ้าอย่างที่ทรงได้รับการเปิดเผยในพระคัมภีร์ วิลคินกล่าวต่อไปว่า “เราต้องรักพระเจ้าด้วยความคิดของเรา โดยปล่อยให้ความรู้บอกกับอารมณ์ของเรา แทนที่จะเป็นอีกอย่างที่สลับกัน”

3. เราข้ามเนื้อหาท่อนใหญ่ของพระธรรมหลายๆ ตอนไป

ข่าวประเสริฐคือข่าวดี แต่ไม่ใช่ทุกหน้าในพระคัมภีร์จะมีเป้าหมายเพื่อทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง  ตรงกันข้าม พระคัมภีร์มักจะชี้ให้เราเห็นถึงความเลวทรามและความไม่ซื่อสัตย์ของเราอยู่บ่อยครั้ง กระนั้นก็ยังย้ำเตือนให้ระลึกถึงพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อของเราด้วย

เมื่อเราเลือกที่จะหยิบเอาแค่พระคัมภีร์บางข้อโดยมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้ข้อเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกดีขึ้นเวลาที่รู้สึกแย่ เราก็เสี่ยงที่จะลดระดับความสำคัญของพระคัมภีร์ให้เหลือเพียงแค่คู่มือสำหรับการพัฒนาตัวเองเท่านั้น  วิลคินกล่าวว่า “จริงอยู่ เราสามารถพบการปลอบโยนใจได้ในหลายๆ หน้าของพระคัมภีร์ แต่สิ่งที่ทำให้การปลอบโยนใจนั้นคงอยู่และเป็นของจริง คือบริบท”

วิลคินกล่าวว่า ให้เราอ่านพระคัมภีร์แบบนี้

รับรองได้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในพระคัมภีร์ของเราจะยังคงไม่ถูกอ่านเพราะพระคัมภีร์ข้อเหล่านี้ไม่สามารถอัดฉีดความพึงพอใจทางอารมณ์ให้กับเราได้แบบทันที เราคงจะไม่อ่านพระธรรมเลวีนิติหรือบทเพลงคร่ำครวญถ้าหากเราเห็นด้วยกับวิธีแบบนี้  แนวทางการศึกษาพระคัมภีร์ที่รอบรู้จะท้าทายให้เราสำรวจพระคัมภีร์แบบรอบด้าน แม้กระทั่งส่วนที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจหรือยากที่จะเข้าใจก็ตาม

4. เราสับสนระหว่างการอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระคัมภีร์กับการศึกษาพระคัมภีร์จริงๆ

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือพระคัมภีร์สามารถเป็นประโยชน์ต่อการพยายามทำความเข้าใจพระคัมภีร์และชีวิตคริสเตียนได้มาก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อทดแทนพระคำของพระเจ้าเลย  วิลคิน กล่าวว่า 

ถ้าหากฉันชอบอ่านสิ่งที่คนอื่นเขียนเกี่ยวกับพระคัมภีร์มากกว่าอ่านตัวพระคัมภีร์เอง ฉันก็คงจะกำลังอ่านสิ่งที่บางคนพูดเกี่ยวกับสิ่งที่บางคนพูดเกี่ยวกับสิ่งที่พระคัมภีร์พูด  สำหรับการศึกษาแบบเป็นหัวข้อ หนังสือต่างๆ ที่พูดเกี่ยวกับพระคัมภีร์สามารถเป็นประโยชน์ได้ แต่หนังสือเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องพื้นฐานที่ขาดไม่ได้

ยิ่งเราใช้เวลากับแหล่งข้อมูลหลัก (พระคัมภีร์) มากเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้และเข้าใจกับแหล่งข้อมูลนี้มากขึ้นเท่านั้น  ความคิดเห็นของคนอื่นเกี่ยวกับพระคัมภีร์มีไว้เพื่อส่งเสริมการใช้เวลาส่วนตัวของเรากับพระคัมภีร์ให้สมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น

5. เรามองไม่เห็นภาพใหญ่ของพระคัมภีร์

แม้ว่าพระคัมภีร์จะถูกเขียนโดยผู้เขียนมากมาย และถูกจัดไว้ในหมวดหมู่ที่ต่างกัน แต่เราก็เชื่อว่าพระคัมภีร์ทั้งหมดได้รับการดลใจจากพระเจ้าและดังนั้นจึงเทียบเท่ากับถ้อยคำของพระเจ้า  ซึ่งสิ่งนี้หมายความว่า เมื่อเราอ่านส่วนใดส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์โดยไม่ได้สนใจเนื้อหาทั้งหมด เราก็มีแนวโน้มที่จะพลาดสิ่งที่วิลคินเรียกว่า “ภูมิทัศน์ที่ต่อเนื่องและน่าทึ่ง” ของพระคัมภีร์ไป เธอกล่าวว่า

หากไม่มีภาพที่ใหญ่กว่าของพระคัมภีร์ เราก็อาจจะแค่รู้สึกซาบซึ้งกับพระคัมภีร์แบบเป็นส่วนๆ ตามที่ภาพถ่ายอย่างรวดเร็วแต่ละใบจะพยายามบอกเราเท่านั้น  ตั้งแต่ปฐมกาลไปจนถึงวิวรณ์ พระคัมภีร์กำลังบอกเราเกี่ยวกับการครองราชย์และการปกครองของพระเจ้า  ลักษณะภูมิประเทศของพระคัมภีร์ก็พูดถึงเรื่องการทรงสร้าง การล้มลงในบาป การไถ่ และการทรงสร้างใหม่ในทุกๆ ทัศนียภาพ  ลักษณะภูมิประเทศของเรื่องราวที่ใหญ่ของพระคัมภีร์นี้เต็มไปด้วยงานเขียนประเภทต่างๆ ได้แก่ การบรรยายทางประวัติศาสตร์ กวีนิพนธ์ ปัญญานิพนธ์ ธรรมบัญญัติ คำพยากรณ์ คำอุปมา และจดหมายฝาก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำงานร่วมกันเพื่อขยายความเข้าใจของเราในเรื่องการครอบครองและการปกครองของพระเจ้าด้วยวิธีที่ต่างกัน

การเข้าใจสิ่งที่นักวิชาการเรียกว่าเป็นการเล่าเรื่องราวหลักของพระคัมภีร์ (เรื่องราวที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแผนการของพระเจ้าตลอดประวัติศาสตร์) จะช่วยให้เราสามารถปะติดปะต่อสิ่งที่อาจดูเหมือนเป็นเรื่องราว คำสอน และหัวข้อที่แตกต่างกันได้  การรู้เรื่องราวหลักของการไถ่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวแต่ละเรื่องที่กระจัดกระจายอยู่ในพระคัมภีร์ทั้งหมดได้  วิลคินกล่าวว่า 

การที่เราไม่ได้เชื่อมโยงเรื่องที่อ่านนั้นกับการเล่าเรื่องราวหลักในพระคัมภีร์ อาจทำให้เรากลายเป็นเหมือนกับคนสวนที่มองไม่ออกว่าสีของใบไม้เป็นสัญญาณของฤดูใบไม้ร่วง ไม่ใช่สัญญาณของต้นไม้ที่ป่วยเป็นโรค  เมื่อเราเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวเรื่องใหญ่ของพระคัมภีร์แบบคลุมเครือ เราก็อาจจะมีปัญหากับการหาความต่อเนื่องระหว่างพระเจ้าของพระคัมภีร์เดิมกับพระเจ้าของพระคัมภีร์ใหม่  เราอาจจะมีปัญหากับการเชื่อมโยงกับพระคัมภีร์เดิมทั้งหมดเลย  เราอาจจะตีความวัตถุประสงค์ผิดเพี้ยนไป หรือไปเน้นเรื่องราวที่เล็กกว่าแทน เพราะเราพิจารณาสิ่งนี้แยกจากความสัมพันธ์ที่สิ่งนี้มีกับเรื่องราวที่ใหญ่ของพระคัมภีร์  เราจำเป็นต้องนึกถึงเรื่องราวหลักของพระคัมภีร์ไว้ในใจเสมอเมื่ออ่านพระคัมภีร์แต่ละหน้า ต้องไม่ลืมว่า เช่นเดียวกับชีวิตของเรา บางครั้งเราอาจไม่เข้าใจสิ่งที่พระเจ้าทรงกำลังอยู่ทำในระยะสั้น แต่เราสามารถวางใจพระองค์ในภาพที่ใหญ่กว่าได้เสมอ


English version: “5 Common Mistakes to Avoid When Studying the Bible

Categories

Saphan Siam exists to be a bridge between the Thai church and biblical, timely and trusted resources.

Learn More

สองทางชีวิต

ติดตามเรา