ทุกครั้งที่ผมสอนพระคัมภีร์อพยพ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้คือนักเรียนของผมแทบไม่รู้ว่าผู้เขียนพระคัมภีร์นี้มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของชาวอียิปต์เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผมคิดว่าคริสตจักรของเราก็ยังมีความเข้าใจในลักษณะนี้เช่นกัน ประวัติศาสตร์ของทั้งชาวยิวและคริสเตียนได้บอกเราว่าผู้เขียนพระคัมภีร์อพยพคือโมเสส ผู้ซึ่งคุ้นเคยกับภาษาอียิปต์ เทววิทยาของชาวอียิปต์ และขนบธรรมเนียมวิถีชีวิตของชนชาติอียิปต์เป็นอย่างดี พูดอีกอย่างคือ โมเสสไม่ได้เขียนพระคัมภีร์อพยพในฐานะคนนอก เขาไม่ได้เป็นผู้เขียนที่ขาดความเข้าใจชีวิตในอียิปต์ ตรงกันข้าม โมเสสมีความคุ้นเคยกับอียิปต์เป็นอย่างดี และในบทความนี้ ผมอยากจะนำเสนอสามประเด็นในพระคัมภีร์อพยพเพื่อยืนยันเรื่องนี้
1. พระคัมภีร์อพยพมีความสอดคล้องในเชิงเนื้อหา (thematic parallel) ที่เรามักมองข้าม
ในอพยพ 2:1-10 เราเรียนรู้ว่าโยเคเบด ผู้เป็นมารดาของโมเสส นำบุตรชายของนางใส่ใน “ตะกร้าปาปิรัส” (อพยพ 2:3, NIV) แล้วปล่อยให้เขาล่องลอยตามต้นกกริมฝั่งแม่น้ำไนล์ คำศัพท์ภาษาฮีบรูสองคำที่แปลว่า “ตะกร้าปาปิรุส” เป็นคำยืมจากภาษาอียิปต์ คำแรกคือ “โกม” ซึ่งแปลว่า ปาปิรุส พืชที่สามารถพบได้ทั่วไปตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ส่วนคำที่สองคือ “เทวาห์” ซึ่งแปลว่า หีบ โลง หรือ เรือ คำนี้ปรากฏในพระคัมภีร์เดิมเพียงแค่ครั้งเดียวในเรื่องราวน้ำท่วมโลก: ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสกับโนอาห์ว่า “จงเข้าไปในเรือ (เทวาห์) พร้อมกับครอบครัวของเจ้า”’(ปฐมกาล 7:1) นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความสอดคล้องในเชิงเนื้อหา (thematic parallel) ทั้งโนอาห์และโมเสสต่างลงไปในน้ำ ผ่านการรอดชีวิตในเรือ และกลายเป็นผู้ช่วยชีวิตคนอื่นๆ (อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ทั้งโนอาห์และโยเคเบดต่างก็ใช้น้ำมันดินทาเรือเพื่อปกป้องเรือจากอันตราย)
ในอพยพ 2:10 เป็นเรื่องราวของการตั้งชื่อของโมเสสโดยธิดาของฟาโรห์ นางเลี้ยงดูโมเสสเสมือนลูกของตัวเองและตั้งชื่อเขาว่า “โมเสส” ซึ่งมาจากคำกริยาภาษาฮีบรูที่แปลว่า “ดึงออกมา” แต่ในอีกแง่หนึ่ง “โมเสส” ยังเป็นชื่อที่มีรากมาจากภาษาอียิปต์ หมายถึง “บุตรของ” คำนี้พบได้บ่อยในธรรมเนียมการตั้งชื่อของชาวอียิปต์ เช่น ทัทโมสิส (บุตรของทัท) และ อาห์โมสิส (บุตรของอาห์) แต่ในกรณีของโมเสส ชื่อของเขาไม่มีคำใดนำหน้า ทำให้ชื่อของเขาหมายถึงเพียงแค่ “บุตรของ” นี่อาจเป็นการเล่นคำของผู้เขียนพระคัมภีร์ เพื่อแสดงว่าโมเสสไม่ได้เป็นบุตรของอียิปต์ แต่เป็นบุตรของอิสราเอล (เนื่องจากโมเสสปฏิเสธอียิปต์ในอนาคต; ฮีบรู 11:24-25)
2. ภัยพิบัติ
อีกประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้ามในพระคัมภีร์อพยพคือ ภัยพิบัติของอียิปต์เป็นการต่อสู้ระหว่างพระเจ้ากับเทพเจ้าทั้งหลายของอียิปต์ เหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าสาปแม่น้ำไนล์ให้กลายเป็นเลือด (อพยพ 7:14-25) ทำไมพระเจ้าจึงลงโทษอียิปต์เช่นนี้? ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าแม่น้ำไนล์เป็นแหล่งกำเนิดชีวิต และเมื่อแม่น้ำเอ่อล้น ผู้คนจะบูชาแม่น้ำไนล์เสมือนเป็นเทพเจ้าฮาปี ดังนั้น การที่พระเจ้าสาปให้แม่น้ำกลายเป็นเลือดนั้นก็คือการเยาะเย้ยเหล่าเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์ ภัยพิบัตินี้เป็นการประกาศว่าชีวิตของเรานั้นได้รับการดูแลและค้ำชูจากพระอำนาจของพระเจ้าองค์เดียว ไม่ใช่จากเทพเจ้าของอียิปต์ที่ไม่มีตัวตน เช่นเดียวกัน ภัยพิบัติอื่นๆ ก็เป็นการท้าทายและเยาะเย้ยเทพเจ้าองค์อื่นของชาวอียิปต์
3. พระคัมภีร์อพยพอาจตั้งใจอ้างอิงถึงวรรณกรรมอียิปต์
สิ่งสำคัญประการที่สามที่ผู้อ่านพระคัมภีร์ควรรู้คือ โมเสสผู้เขียนพระคัมภีร์อพยพ มีความคุ้นเคยกับวรรณกรรมอียิปต์โบราณเป็นอย่างดี สเทเฟนกล่าวในกิจการ 7:22 ว่า “โมเสสได้รับการศึกษาในวิชาความรู้ทั้งปวงของอียิปต์” ในเรื่องราวการแหวกทะเลแดงโดยพระเจ้า มีเรื่องเล่าคล้ายกันในวรรณกรรมอียิปต์เกี่ยวกับนักบวชคนหนึ่งที่สามารถแบ่งแยกแหล่งน้ำใหญ่ หนังสือปาปิรัสจากเวสคาร์เล่าเรื่องนี้เกี่ยวกับฟาโรห์สเนฟรูที่ล่องเรือในทะเลสาบ ในเรื่องนี้ ฝีพายนางหนึ่งทำเครื่องรางรูปปลาตกน้ำ และฟาโรห์ได้เรียกนักบวชคนหนึ่งมาช่วย นักบวชคนนั้นแยกน้ำออกด้วยการเสกให้ครึ่งหนึ่งของทะเลสาบลอยอยู่เหนือน้ำอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้เขาสามารถลงไปเก็บเครื่องรางได้ เป็นไปได้ว่าโมเสสบันทึกเรื่องราวการแหวกทะเลแดงเพื่อเยาะเย้ยตำนานอียิปต์นี้ นั่นก็คือ อาจจะเป็นเรื่องจริงที่นักบวชอียิปต์มีความสามารถในการแหวกทะเลสาบเพื่อเก็บเครื่องราง แต่พระเจ้าของอิสราเอลทรงสามารถแหวกได้ทั้งทะเลแดง เพื่อช่วยให้ทั้งชนชาติของพระองค์ผ่านพ้นไป คำถามก็คือ ใครมีอำนาจเหนือกว่ากัน?
โดย จอห์น เคอร์ริด
English version: “3 Things You Should Know about Exodus” by John Currid