Saphan Siam

ลูกเอ๋ย ขอใจของเจ้าให้เราเถิด

ความปรารถนาแรกของการเลี้ยงลูกที่เกิดผล 

ลูกเอ๋ย ขอใจของเจ้าให้เราเถิด จงให้ตาของเจ้าปิติยินดีในทางของเรา (สุภาษิต 23:26)

สุภาษิตที่เรียบง่ายข้อนี้ฝังอยู่ในชุดคำแนะนำและคำตักเตือนเรื่องภัยของหญิงแพศยาและความสำมะเลเทเมา ความเรียบง่ายของสุภาษิตข้อนี้ได้ปิดซ่อนความล้ำลึกของตัวเองไว้  ในสิบเก้าคำ สุภาษิตข้อนี้กรีดลึกลงไปถึงหัวใจของการเลี้ยงลูก และเมื่อถูกใช้อย่างสม่ำเสมอก็จะเปลี่ยนทิศทางของทุกอย่างในการเลี้ยงลูกของเรา

คำแนะนำทั้งสองแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนอันน่าทึ่งซึ่งเรามองหาในการเลี้ยงลูก  เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นในบ้านของเรา เราก็อยากได้บางอย่างจากพวกเขา และเราก็อยากให้พวกเขาได้บางอย่างจากเราด้วย  เราต้องการหัวใจของพวกเขาและต้องการให้พวกเขาได้วิถีทางของเรา

แรงกระตุ้นในการเลี้ยงลูก

การทรงเรียกสำหรับพ่อแม่ในพระคัมภีร์ คือ การเลี้ยงดูบุตรหลานของเราด้วยการฝึกฝนและสั่งสอนตามแนวขององค์พระผู้เป็นเจ้า (เอเฟซัส 6:4) การทรงเรียกนี้มีอยู่หลายแง่มุม เราสั่งสอนและตักเตือน เราสร้างกฎและบังคับใช้กฎ เราให้คำแนะนำและติเพื่อก่อ เราว่ากล่าว อบรม และเตรียมลูกๆ ของเราให้พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต  แต่หากเรากำลังพยายามจะเลี้ยงดูพวกเขาในทางของ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” แล้วเราจะต้องใส่ใจต่อสิ่งนี้ นั่นคือเราอยากจะเข้าถึงหัวใจของพวกเขา

มันง่ายที่จะลืมประเด็นนี้ไป มันง่ายมากที่จะสั่งสอนและลงวินัย เพราะเราต้องการให้เด็กๆ เชื่อฟัง หรือเพราะเราต้องการความเงียบสงบ หรือเพราะเรามีงานสำคัญที่ต้องทำ  แล้วเสียงเอะอะ เสียงงอแง เสียงทะเลาะกัน และเสียงเย้าแหย่กันในครัวก็แทรกเข้ามา

แน่นอนว่าการติเพื่อก่อเป็นเรื่องสำคัญ  การหงุดหงิด การโวยวาย การทะเลาะกัน และการยั่วยุ ล้วนเป็นบาปที่ต้องจัดการ  เราต้องการให้พวกเขาเชื่อฟังและเราก็ยังมีความผิดชอบต่อพระเจ้าในการอบรมสั่งสอนและลงวินัยพวกเขา  บ้านที่สงบสุขเป็นพรสำหรับทุกคนในบ้าน ทว่าเป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่จะจัดการกับบาปแล้วลืมสิ่งที่สำคัญที่สุดไป  เป็นไปได้ที่เราจะมองข้ามความจริงที่ว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือการเชื่อฟังที่มาจากใจ ความสงบเรียบร้อยที่มาจากใจ สิ่งที่เราต้องการคือใจของพวกเขา

นี่หมายความว่าคำแนะนำ การห้าม คำเตือน การตำหนิ การเตือนสติ และการลงวินัยของเราล้วนต้องออกมาจากความต้องการที่จะได้ใจของพวกเขา  ให้เราถามตัวเองว่า : เมื่อคุณตั้งกฎ คุณอยากจะเข้าถึงหัวใจของพวกเขาอยู่หรือเปล่า? เมื่อคุณสอนพวกเขาเกี่ยวกับกฎของพระเจ้า คุณอยากจะเข้าถึงหัวใจของพวกเขาอยู่หรือเปล่า? เมื่อคุณบังคับใช้กฎ ไม่ว่าจะเป็นกฎของพระเจ้าหรือกฎของบ้าน คุณอยากจะเข้าถึงหัวใจของพวกเขาหรือเปล่า? เมื่อคุณตอบรับคำขอของพวกเขา คุณอยากจะเข้าถึงหัวใจของพวกเขาไหม? เมื่อคุณปฏิเสธคำขอของพวกเขา คุณอยากจะเข้าถึงหัวใจของพวกเขาไหม?

ในทุกอย่างที่คุณทำในฐานะพ่อแม่ สุภาษิตของโซโลมอนได้อยู่ในคำพูด ท่าที และการกระทำของคุณไหม? แรงกระตุ้นในการเลี้ยงลูกของคุณ คือ “ลูกเอ๋ย ขอใจของเจ้าให้เราเถิด” หรือเปล่า?

เดินตามรอยเท้าของเรา

เอาล่ะ การจะได้ใจของพวกเขานั้นเป็นเพียงแค่ด้านเดียวของสมการนี้เท่านั้น อีกด้านคือสิ่งที่เราหวังว่าจะได้มอบให้กับพวกเขา “จงให้ตาของเจ้าปิติยินดีในทางของเรา” คำแปลที่ดีกว่าอาจจะเป็นไปได้ว่า “ให้ตาของเจ้าสังเกตดูทางของข้า” คำว่าสังเกตดูไม่ได้หมายถึงการเพียงแค่สนใจแต่ไม่ใส่ใจ คำนี้ปรากฏในพระธรรมตอนเหล่านี้ เช่น

แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงชื่นชมบรรดาผู้ที่ยำเกรงพระองค์ผู้ที่ฝากความหวังไว้ในความรักมั่นคงของพระองค์ (สดุดี 147:11)

เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงปีติยินดีในประชากรของพระองค์ ทรงเชิดชูผู้ถ่อมใจด้วยชัยชนะ (สดุดี 149:4)

เพราะองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตีสั่งสอนผู้ที่พระองค์ทรงรัก ดั่งพ่อตีสั่งสอนลูกที่ตนชื่นชม (สุภาษิต 3:12)

เมื่อวิถีทางของผู้ใดเป็นที่พอพระทัยองค์พระผู้เป็นเจ้า แม้แต่ศัตรู พระองค์ก็ยังทรงทำให้คืนดีกับเขา (สุภาษิต 16:7)

อารมณ์ของการเตือนสติตรงนี้ คือ “ลูกเอ๋ย จงมองดูวิธีที่พ่อประพฤติตัวด้วยความปีติยินดี แล้วยอมรับทางแห่งชีวิตของพ่อด้วยความยินดีเถิด” กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเรียกนี้ไม่ได้มีไว้ให้บุตรสังเกตความประพฤติของบิดาเท่านั้น แต่ให้มีใจปรารถนาที่จะเลียนแบบทางนั้น เดินตามทางนั้น เพื่อทำให้วิถีทางของบิดากลายเป็นวิถีทางของตัวเขาเองอีกด้วย

วิถีทางของเรา หมายถึง พฤติกรรมที่แสดงถึงนิสัยของเรา รวมทั้งรูปแบบของความคิด คำพูด ท่าที และการกระทำต่างๆ ที่กำหนดความเป็นเรา  กล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่คือวิถีทางที่เราใช้ดำเนินไปในโลกจริงๆ  หลักๆ แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เราพูด แต่เป็นสิ่งที่เราทำในทางปฏิบัติ มันคือขั้นตอนในการดำเนินการตามปกติของคุณ นี่คือสิ่งที่ลูกๆ ของเราได้รับการแนะนำให้สังเกต ยอมรับ และทำตามด้วยความยินดี

ในแง่นี้ ลักษณะการพูดของเราก็สำคัญเท่าๆ กับเนื้อหาคำพูดนั่นเอง คือไม่ใช่แค่สิ่งที่เราพูดและทำ แต่เป็นวิธีที่เราพูดและทำ  ดังนั้น จงพิจารณาท่าที ท่าทาง น้ำเสียงของคุณให้ดี แล้วจงถามตัวเองในเชิงตรวจสอบ

คุณสอนลูกด้วยความโมโหหรือความชื่นบาน? คุณติเพื่อก่อด้วยความอดทนหรือความหงุดหงิด? หากมีบุคคลอื่นอยู่ด้วยในห้องเมื่อคุณตักเตือนและลงวินัยลูก เขาจะบอกว่าน้ำเสียงของคุณรุนแรงหรือหนักแน่น? ประชดประชันหรือเมตตา?  โมโหหรือสุภาพ? “วิถีทาง” แบบไหนที่คุณกำลังขอให้เด็กๆ เลียนแบบและยึดไว้เป็นของเขาด้วยความยินดีอยู่? คือแบบที่ตอบสนองทันทีด้วยความรุนแรงอย่างเผ็ดร้อน หรือแบบที่ตอบสนองอย่างชาญฉลาดด้วยความเด็ดเดี่ยวอย่างมีสติ?

มอบใจของเด็กๆ ให้กับพระเจ้า

คำแนะนำทั้งสองนี้อยู่ด้วยกัน วิถีทางของเราจะยิ่งเป็นทางที่น่าชื่นบานสำหรับเด็กๆ หากเราพยายามที่จะได้ใจของพวกเขาด้วยความยินดี  หนึ่งในการทรงเรียกขั้นพื้นฐานของเรา คือการเป็นรอยยิ้มของพระเจ้าให้กับลูกๆ ของเรา นั่นคือแรงกระตุ้นแห่งวิถีทางของเรา และในการสะท้อนลักษณะการเห็นชอบของพระเจ้า เราก็ยังพยายามที่จะได้ใจของพวกเขาและเรียกให้พวกเขามาสังเกต ต้อนรับ ยอมรับ และยึดเอาวิถีทางของเรา

แต่ไม่ใช่แค่วิถีทางของเราเท่านั้น  ท้ายที่สุดแล้ว เราอยากให้ลูกๆ ของเรามอบใจของพวกเขาให้กับพระเจ้า การมอบใจของเขาให้กับเราคือการฝึกฝนการถวายขั้นสูงสุดนี้  พวก​เขา​มอบ​ใจ​ให้กับ​พ่อ (และ​แม่) ฝ่าย​โลก​เพื่อที่​พวก​เขา​จะ​สามารถ​เรียน​รู้​ที่จะมอบ​ใจให้​กับ​พระบิดาบน​สวรรค์ได้ การสังเกตและการเลียนแบบวิถีทางของเราด้วยใจยินดีจึงเป็นบันไดไปสู่การสังเกตและเลียนแบบวิถีทางของพระเจ้า

แต่เราอาจจะพูดได้มากกว่านี้อีก คือพระเยซูตรัสกับเราว่ามีวิธีในการต้อนรับเด็กๆ ในพระนามของพระองค์วิธีหนึ่งซึ่งจะเป็นการต้อนรับตัวพระเยซูเองด้วย “ผู้ใดต้อนรับเด็กน้อยเช่นนี้ในนามของเราก็ต้อนรับเรา และผู้ที่ต้อนรับเราก็ไม่ได้ต้อนรับเราเท่านั้นแต่ต้อนรับพระองค์ผู้ทรงส่งเรามาด้วย” (มาระโก 9:37) การต้อนรับสองอย่างนี้ คือการต้อนรับเด็กๆ และการต้อนรับพระเยซูนี้ต่างก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะแบบแรกทำในนามของพระองค์ เมื่อคุณต้อนรับเด็กๆ ในนามของพระเยซู คุณจะได้รับอะไรในตอนท้าย? คุณก็จะได้เด็กๆ และได้พระเยซูด้วย

ในทำนองเดียวกัน มีวิธีที่ลูกๆ ของคุณจะสามารถให้ใจของพวกเขากับคุณซึ่งในต่อมากลายเป็นการมอบใจของเขาให้พระเจ้าได้โดยพระคุณของพระองค์  พวกเขามอบใจให้กับคุณ และถ้าคุณสอนเขาในทางที่ถูกต้อง เขาจะมอบใจให้กับคุณในนามของพระเยซู และเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น ใครล่ะที่จะได้ใจของพวกเขาในที่สุด? ก็คุณและพระองค์ไง

โดย โจ ริกนีย์


English Version: “My Son, Give Me Your Heart: The First Desire of Fruitful Parenting

Categories

Saphan Siam exists to be a bridge between the Thai church and biblical, timely and trusted resources.

Learn More

สองทางชีวิต

ติดตามเรา